โรคลมชักในเด็ก ไม่ใช่ผีเข้าและอันตรายกว่าที่คิด

โรคลมชักในเด็ก

โรคลมชักเกิดจากที่คลื่นสมองผิดปกติและกระตุ้นเซลล์สมอง จึงทำให้เกิดอาการชัก เกร็ง กระตุก น้ำลายไหล กัดลิ้น ไม่รู้สึกตัว พบได้บ่อยและกับทุกเพศทุกวัย

โรคลมชักในเด็ก
โรคลมชักเป็นโรคที่มีอันตรายสูงทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง เพราะอาการลมชักจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราเองก็ไม่สามารถรู้ตัวเองได้ สำหรับเด็กที่มีอาการลมชัก หากพ่อแม่สามารถสังเกตอาการของลูกน้อยได้เร็ว ก็จะช่วยให้เด็กสามารถถึงมือหมอได้อย่างทันเวลา

โรคลมชัก… คืออะไร

โรคลมชักเกิดจากความผิดปกติของการนำกระแสประสาทในสมอง ทำให้ร่างกายเกิดการชักเกร็งไปทั้งตัว

ซึ่งเด็กที่เป็นลมชักมักจะจำไม่ได้ว่าตัวเองชัก เราเรียกโรคลมชักนี้ว่า ลมบ้าหมู ซึ่งอาจเกิดได้จากทั้งกรรมพันธุ์ หรือการที่สมองได้รับอันตรายเช่น ขาดออกซิเจน หรือสมองถูกกระทบกระเทือนอย่างแรง เนื้องอกในสมอง หรือการติดเชื้อในระบบประสาท โดยเด็กที่เป็นโรคลมชักจากการที่สมองได้รับอันตรายมักจะมีพัฒนาการด้านร่างกายและสมองผิดปกติร่วมด้วย

อาการแบบไหนเรียกว่า “ลมชัก”

เมื่อเด็กเป็นโรคลมชักจะมีอาการชักทั้งตัว เวลาชักจะเกร็งและกระตุกนานมากกว่า 2 – 3 นาที แต่ก็ยังมีโรคลมชักประเภทหนึ่งคือ โรคลมชักเหม่อ เป็นการเหม่อประมาน 30 วินาที มีการเหม่อลอยเป็นพักๆ หรือจู่ๆ คุยแล้วก็หยุดนิ่งไป และอาการจะหายไปเองซึ่งมักจะเป็นในเด็กที่มีอายุ 5 – 10 ปี

การรักษา เมื่อลูกเป็นลมชัก

พ่อแม่จะต้องคอยสังเกตว่ารายละเอียดของการชัก เช่น ลูกมีอาการชักบ่อยแค่ไหน และปกติจะชักช่วงเวลาไหน ขณะที่นอนหลับหรือตอนตื่น เป็นมานานหรือยัง หรือเมื่อชักแล้วมีอาการนานขนาดไหน ในขณะที่ชักมีอวัยวะส่วนไหนบ้างที่เกร็งหรือกระตุก และโดยปกติแล้วอาการชักจะเกิดขึ้นมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไปแม้ว่าจะไม่มีสิ่งมากระตุ้นก็ตาม ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว คุณหมอก็จะเจาะเลือดดูระดับน้ำตาล ดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ รวมไปถึงตรวจความผิดปกติของสมองซึ่งจะมีการตรวจน้ำไขสันหลังร่วมด้วย เช็กประวัติการคลอด ประวัติครอบครัว เป็นต้น

และถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่เจอสาเหตุของการชัก แต่การที่พาลูกไปให้คุณหมอตรวจอาการจนได้รับคำยืนยันว่าเป็นโรคลมชักนั้น จะช่วยทำให้เด็กได้รับยาที่ถูกต้อง ซึ่งก็ควรทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพราะการชักจะส่งผลต่อพันาการของเด็ก ทำให้เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง และมีความก้าวร้าวมากขึ้น แต่เมื่อเด็กโตขึ้นอาการชักก็จะค่อยๆ เริ่มลดลงและหายไปในที่สุด

รับมืออย่างไร เมื่อลูกเป็นลมชัก

สิ่งแรกสำหรับพ่อแม่ที่ต้องเตรียมพร้อมเลยคือ สติ ต้องไม่ตกใจและพร้อมที่จะช่วยเหลือลูกของคุณอยู่เสมอ พยายามให้เด็กอยู่ในที่โล่ง คลายเสื้อผ้าที่รัดเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี ถ้าเด็กนั่งอยู่ให้จับเด็กนอนราบลงกับพื้นพร้อมกับตะแคงหัวเด็กให้หันไปด้านข้าง เพื่อไม่ให้เด็กสำลัก ถ้าตัวเด็กเกร็ง งอ หรือตึง ไม่ควรไปนวดบีบหรือพยายามฝืนอาการของเด็ก และที่สำคัญห้ามเอาอะไรใส่ปากเด็กเพราะจะทำให้เด็กสำลักหรือหายใจไม่สะดวก พร้อมกับจับเวลาและสังเกตอาการชักของลูกน้อยเพื่อให้สามารถแจ้งกับหมอได้ถูกต้อง และถ้าหากเด็กชักบ่อยๆ ติดๆ กันควรรีบพาไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย 4